‘แม่ฟ้าหลวง’ปรับทิศพัฒนา พาเอกชนทำดันชาติยั่งยืน

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จากนี้ไป จะปรับตัวเองไปทำงานกับภาคเอกชนเป็นหลัก โดยใช้ความแข็งแกร่งขององค์กรในเรื่องของการสร้างความยั่งยืนที่มีมากว่า 30 ปี มาเป็นจุดนำทางทำธุรกิจที่ทำให้โลกนี้ดีขึ้น เพื่อรองรับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกด้าน รวมถึงการลดภาวะโลกร้อน ซึ่งคนรุ่นนี้ รุ่นลูก อาจไม่ได้รับผลกระทบอะไรแบบเต็ม ๆ แต่คนรุ่นหลัง ตั้งแต่รุ่นหลานลงไป กลายเป็นผู้ที่ต้องรับผลกระทบไปทั้งหมด เพราะกฎกติกาของโลกเปลี่ยนแปลงไป ถ้าเราไม่ทำอะไรก็เท่ากับเป็นคนที่ไม่รับผิดชอบ

ทั้งนี้การทำงานในเวลานี้ไม่ง่าย ดังนั้นหากแม่ฟ้าหลวงปรับเปลี่ยนการทำงานโดยหันมาจับมือกับภาคเอกชน และหากเอกชนขยับตัวเองเพื่อก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน ก็เชื่อได้ว่าประเทศจะเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าการเข้าไปพัฒนาโครงการดอยตุงอีก 10 ดอยตุง โดยใช้หลักคิดเรื่องของการขาดโอกาสและขาดพาร์ทเนอร์ในการทำดีเข้าไปเป็นตัวจับ และมูลนิธิฯ ทำหน้าที่เป็นคน “พาทำ” แทนที่จะทำกับชาวบ้านอย่างเดียว ก็หันไปทำกับภาคเอกชน เมื่อภาคเอกชนเปลี่ยนแปลงระบบทั้งหมดก็จะเปลี่ยน ซึ่งหมายความว่าทุกคนย่อมได้รับผลประโยชน์มากขึ้น และทำให้ประเทศเดินไปสู่ความยั่งยืนได้

“เวลานี้แม่ฟ้าหลวงฯ ได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดการที่ยั่งยืน ทั้งการพัฒนาระบบการจัดการขยะทั้งหมดให้กับโครงการพื้นที่มักกะสัน รวมถึงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีภาคเอกชนหลายรายให้แม่ฟ้าหลวงเข้ามาดำเนินการ โดยตั้งเป้าหมายจะปลูกป่าเพื่อนำไปขึ้นทะเบียนโครงการและการรับรองคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานที-เวอร์ ให้ได้ 1 ล้านไร่ภายในปี 67 จากปัจจุบันที่ดำเนินการได้แล้วประมาณ 5 แสนไร่ ซึ่งรวมถึงพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงด้วย”

อย่างไรก็ตามมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังคงขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ในหลายโครงการ โดยคงหลักการนำองค์ความรู้เข้าไปพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ในพื้นที่เป้าหมายที่มีปัญหา โดยยึดคน ชุมชน เป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างโอกาสให้สามารถพึ่งตนเองได้ โดยเฉพาะโครงการต้นแบบอย่างโครงการพัฒนาดอยตุง ที่พัฒนามานานกว่า 30 ปี คนได้รับการศึกษา มีความรู้ พึ่งพาตนเองได้ ก็ต้องพัฒนาเพิ่มขึ้นเพื่อให้ก้าวไปสู่การเป็นไฮยิว หรือมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ทั้งเรื่องของพืชเศรษฐกิจที่โครงการเคยส่งเสริมให้ปลูก ทั้งกาแฟ แมคคาเดเมีย ที่คนชนเผ่าต่าง ๆ สามารถรวมตัวเป็นวิสาหกิจทำธุรกิจ ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ได้เอง ก็ต้องเพิ่มการวิจัยและส่งเสริมการปลูกพืชมูลค่าสูง ทั้งการเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้แบรนด์ดอยตุง และให้เป็นทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกพืชในพื้นที่

สำหรับเรื่องของพืชมูลค่าสูง ทางโครงการพัฒนาดอยตุง ได้ศึกษาและส่งเสริมให้เกษตรกร หลายชนิด ด้วยมุ่งหวังว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้าน ให้กับเกษตรกรได้มากขึ้น เพราะในเวลานี้หากยังคงเน้นการส่งเสริมแต่ไม้ตัดดอก ไม้เหมืองหนาว หรือผลไม้เมืองหนาว ก็จะสู้กับเพื่อนบ้านไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องหันไปสู่พืชมูลค่าสูง ทั้ง วานิลลา โกโก้ กัญชง สตรอว์เบอร์รี่ โดยเฉพาะวานิลลา ที่ทดลองเสร็จสิ้นแล้วอยู่ระหว่างการถอดองค์ความรู้และถ่ายทอดให้กับชุมชน หากทำได้ก็จะมีรายได้จากการปลูกอย่างน้อยก็ปีละ 20,000 บาท ต่อการปลูก 1 เสา โดยนับตั้งแต่ปีที่ 7-8 เป็นต้นไป ซึ่งเวลานี้ได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สู่ตลาดแล้วคือ ดอยตุง วานิลลาไซรัป มีวางจำหน่ายในคาเฟ่ดอยตุงและผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

ม.ล.ดิศปนัดดา กล่าวว่า สำหรับเรื่องกาแฟ ที่ผ่านมาได้พัฒนาและออกผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าที่สูงขึ้น และเจาะตลาดเฉพาะมากขึ้น เช่นกาแฟ ดอยตุง จี ซีรีส์, ดับเบิลยู ซีรีส์ และจะทยอยปล่อยผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น รวมทั้งการหันไปทำตลาดกับภาคเอกชน กลุ่มตลาดรีเทล ให้มากขึ้น หลังจากได้ทำกับการบินไทย ซีพี รีเทลลิงค์ มาแล้ว รวมทั้งการทำการตลาดร่วมกับ “ศาสดากาแฟ” เพื่อยกระดับตลาดกาแฟของดอยตุงให้ดีขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านมากขึ้น และจะได้แข่งขันกับกาแฟจากต่างประเทศได้

นอกจากนี้สินค้าด้านหัตถกรรมแบรนด์ดอยตุง ได้มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมากลุ่มลูกค้าดอยตุง มักเป็นกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป จึงต้องปรับดีไซน์ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ คน เจนแซด มากขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้มีแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการทำธุรกิจของดอยตุง รวมถึงการออกสินค้าใหม่ร่วมกับแบรนด์ต่าง ๆ หรือการทำคอลแลป มาร์เกตติ้ง เช่นเดียวกับที่ทำรองเท้าร่วมกับแบรนด์ โอนิสึกะ ไทเกอร์ ขณะที่การบริการพื้นที่ท่องเที่ยวบนโครงการพัฒนาดอยตุง หรือไร่แม่ฟ้าหลวง ก็จะยกระดับให้เป็นศูนย์การจัดการประชุมแบบยั่งยืนแห่งแรกของไทย หรือเป็นซัสเทนนาเบิล เดสทิเนชั่น

ม.ล.ดิศปนัดดา กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงปรับเปลี่ยนของแม่ฟ้าหลวง ขณะเดียวกันก็ได้สร้างผู้นำรุ่นใหม่ขึ้นมาควบคู่กันไปด้วย โดยการหล่อหลอมให้เห็นความสำคัญของการพัฒนา แต่ไม่ได้เป็นการผูกมัด ไม่ได้ยัดเยียด แต่เป็นการหล่อหลอม เพื่อหวังว่าในอนาคตจะกลับมาพัฒนาพื้นที่ มายกระดับความเป็นอยู่ของเค้าให้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน.คำพูดจาก ทดลองเล่นสล็อต

Related Posts